Translate

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

“ชาเขียว-กาแฟกระป๋อง”อ่วม โดนภาษี 2 เด้งขึ้นราคายกแผง





“ชา-กาแฟ-3 อิน 1” โดน 2 เด้ง ภาษีใหม่สรรพสามิต แห่ขึ้นราคา 2-5 บาท/ขวด “โออิชิ-อิชิตัน-ยูนิฟ” ขึ้นยกแผง จับตาสงครามโปรโมชั่น กาแฟกระป๋องโดนด้วย “เบอร์ดี้-คาราบาว”

แท็กทีมอัพราคา


หลังจากภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้สินค้าเหล้า เบียร์ ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลให้ชา-กาแฟพร้อมดื่ม ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นถึง 2 ขา เนื่องจากเดิมชา กาแฟ ได้รับการยกเว้น เพราะอยู่ในเกณฑ์การใช้วัตถุดิบที่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศ แต่เมื่อภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่กำหนดให้ชา กาแฟพร้อมดื่ม ต้องเสียภาษีในขามูลค่า 10% ของราคาขายปลีกแนะนำ และภาษีขาที่ 2 ตามปริมาณความหวาน ที่เพิ่มการจัดเก็บเป็นครั้งแรกในปีนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นกันทั่วหน้า และเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับราคาเพื่อผลักภาระให้ผู้บริโภคในที่สุด หลังจากอั้นมานานเกือบ 2 เดือน

ชาเขียวอ่วม

นายทนุ เนาวรัตน์พงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชาพร้อมดื่ม ยูนิฟ ที น้ำผักผลไม้รวม ยูนิฟ ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดสินค้าประเภทชาเขียวพร้อมดื่มเริ่มมีการทยอยปรับราคาขายปลีกขึ้นแล้ว เนื่องจากผลของภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ทำให้ชา-กาแฟมีต้นทุนภาษีมากขึ้น โดยหลัก ๆ จะอยู่ที่การเรียกเก็บภาษีในฝั่งมูลค่า 10% จากราคาขายปลีก หลังจากที่เคยได้รับการยกเว้น ขณะที่ภาษีจากฝั่งความหวานเมื่อคำนวณออกมาแล้ว มีผลต่อต้นทุนเพียงเล็กน้อย

นายทนุกล่าวว่า การปรับขึ้นราคาของชาเขียวพร้อมดื่มครั้งนี้ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 2-5 บาทต่อขวด ซึ่งคาดว่าน่าจะกระทบกับตลาดในภาพรวม จากเดิมที่ตลาดชาเขียวที่มีมูลค่าตลาดรวมราว ๆ 1.5 หมื่นล้านบาท หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ของตลาดแม้จะไม่ขึ้นราคา ตลาดก็ตกลงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และหลังการปรับราคาก็มองว่าน่าจะส่งผลให้ตลาดนี้มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งในแง่ของราคาและโปรโมชั่น

“สำหรับยูนิฟ ที เองตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็ได้ทยอยจะปรับราคาจาก 10 บาท เป็น 12 บาท และที่ต้องขึ้นราคา 2 บาท เพราะนอกจากภาษีในฝั่งมูลค่า 10% แล้ว ยังมีภาษีท้องถิ่นอีก 1% ประกอบกับการที่กฎหมายใหม่ให้ใช้ฐานภาษีในการคิดจากราคาขายปลีก จึงต้องมีการคำนวณโครงสร้างกำไรของร้านค้าใหม่อีกรอบ เนื่องจากการนำสินค้าไปวางในช่องทางต่าง ๆ สินค้าต้องเสียค่า GP (gross profit) หรือค่าส่วนแบ่งจากยอดขาย โดยช่องทางจะกำหนดเป็น % เมื่อราคาขายปลีกเปลี่ยนไป แต่ % ที่ช่องทางได้จะต้องเท่าเดิม” นายทนุอธิบาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากการสำรวจตลาดชาเขียวในช่องทางร้านสะดวกซื้อ พบว่า หลาย ๆ แบรนด์ได้ทยอยปรับราคาแล้ว อาทิ โออิชิ (โออิชิกรุ๊ป) จาก 15 บาท เป็น 20 บาท (380 มล.) ทุกรส และขวดขนาด 500 มล. จาก 20 บาท เป็น 25 บาท ทุกรส เช่นเดียวกับอิโตเอ็น (บริษัท อิโตเอ็น) ชาพร้อมดื่มจากญี่ปุ่น ปรับขึ้นจาก 25 บาท เป็น 30 บาท ทุกรส นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่า อิชิตัน (บริษัท อิชิตัน) มีแผนจะปรับขึ้นในวันที่ 9 พ.ย.นี้ จากก่อนหน้า ฟูจิชะ ของร้านอาหารญี่ปุ่น ฟูจิ ได้ปรับขึ้นราคาไปแล้ว จาก 25 บาท เป็น 30 บาท รวมถึงสูตรไม่มีน้ำตาลด้วย

อัดสารพัดแคมเปญสู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดชาเขียว โออิชิ ก็ได้จัดแคมเปญใหญ่ เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงปลายปี เป็นแคมเปญชิงโชค ลุ้นรางวัล ทริปท่องเที่ยวฮอกไกโด และสมาร์ทโฟน 10 พ.ย. 60-31 ม.ค. 61 จากเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ได้เปิดตัวรสชาติใหม่ “โออิชิ รสส้มยูซุ” และทำโปรโมชั่นร่วมกับช่องทางต่าง ๆ อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น รับแสตมป์สะสม 3 ดวง 9 บาท, ซื้อ 2 แถม 1 สำหรับโออิชิ กรีนที 380 มล. ที่บิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส

นอกจากนี้ การสำรวจช่องทางค้าปลีกต่าง ๆ ยังพบอีกด้วยว่า กลุ่มเครื่องดื่มกาแฟกระป๋อง อาทิ เบอร์ดี้ ได้ปรับขึ้นจาก 13 บาท เป็น 15 บาท, คาราบาว จาก 10 บาท เป็น 12 บาท ขณะที่เนสกาแฟ ที่เป็นเจ้าตลาด ยังไม่ปรับราคาขึ้น โดยตลาดกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโตประมาณ 5%

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเครื่องดื่มรายหนึ่งระบุว่า แม้ พ.ร.บ.ใหม่จะมีผลบังคับใช้แล้วเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ผู้ผลิตยังไม่ปรับราคาขึ้นทันที เพราะได้ทำการสต๊อกเอาไว้จำนวนมาก เนื่องจากการปรับราคาจะมีผลต่อจิตวิทยาในการบริโภค และอาจส่งผลให้ตลาดชะลอตัวลง เมื่อสต๊อกเริ่มหมด ทำให้ต้องผลิตลอตใหม่ สินค้าจึงต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นตามกลไกของภาษี โดยเฉพาะในกลุ่มชา และกาแฟ จะได้รับผลกระทบจากภาษีใหม่

3 อิน 1 โดนหางเลข

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงฉบับใหม่ เรื่องการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ระบุให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นเครื่องดื่มที่มีลักษณะผง เกล็ด หรือเครื่องดื่มเข้มข้นที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและสามารถละลายน้ำได้ ซึ่งก็คือกลุ่มเครื่องดื่มประเภท 3 อิน 1 และ 2 อิน 1 จะต้องถูกเก็บภาษีในขาของปริมาณความหวานเพิ่มเติมด้วย โดยเกณฑ์ของการจัดเก็บ หากมีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัม/ลิตร ไม่เสียภาษี น้ำตาล 6-8 กรัม เสียภาษี 0.10 บาท/ลิตร น้ำตาล 8-10 กรัม เสียภาษี 0.30 บาท/ลิตร น้ำตาล 10-14 กรัม เสียภาษี 0.50 บาท/ลิตร น้ำตาล 14 กรัมขึ้นไป เสียภาษี 1 บาท/ลิตร

แหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่มอีกรายให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในส่วนของภาษีความหวานที่ถูกจัดเก็บยังมีภาระน้อยมากไม่กี่สตางค์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าผู้ผลิตจะยอมแบกรับต้นทุนดังกล่าวเอาไว้เอง หรือปรับราคาขึ้นเล็กน้อย เพื่อรักษาบรรยากาศการจับจ่าย และไปเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตหรือลดต้นทุนในเรื่องอื่นแทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น