Translate
วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560
เด็กตัวเขียวแห่งวูลพิท (The Green Children of Woolpit)
บนโลกใบนี้มีเรื่องลึกลับเกิดขึ้นมากมายทั้งในอดีตที่ผ่านมาจนมาถึงปัจจุบัน บางเรื่องก็สามารถหาที่มาหาสาเหตุของเรื่องได้ แต่บางเรื่องกลับกลายเป็นปริศนาที่ไม่สามารถรู้ถึงที่มาจนถึงทุกวันนี้ อย่างเช่นเรื่องราวที่จะนำเสนอต่อไปนี้ คนที่ชอบเรื่องลึกลับ ไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาด
ระหว่างรัชสมัยอันวุ่นวายช่วงปี ค.ศ. 1135-1154 ของกษัตริย์สตีเฟ่นแห่งอังกฤษ (Stephen of England) เกิดเหตุประหลาดขึ้นที่หมู่บ้านวูลพิท ใกล้กับเมืองเบอร์รี่เซนต์เอ็ดมันส์มณฑลซัฟโฟลค์ ขณะชาวไร่กำลังเก็บเกี่ยวพืชผล จู่ๆมีเด็กสองคนโผล่ออกมาจากคูลึกซึ่งขุดไว้เป็นกับดักหมาป่าซึ่งเรียกว่าหลุมหมาป่าหรือ Wolf pit ที่เพี้ยนกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้าน เด็กชายและเด็กหญิงทั้งสองมีผิวเจือสีเขียวสวมเสื้อผ้าสีแปลกๆทำจากวัสดุที่ไม่คุ้นเคย เด็กทั้งสองเดินพล่านด้วยอาการขวัญหนีไปทั่วบริเวณอยู่ครูหนึ่งก่อนถูกนำตัวไปยังหมู่บ้าน ชาวบ้านซึ่งมามุงดูไม่มีใครเข้าใจภาษาที่เด็กพูดจึงพาพวกเขาไปยังบ้านของเจ้าของที่ดิน เซอร์ริชาร์ด เดอ คาล์น (Sir Richard de Calne) ที่เมืองไวค์ส เมื่อไปถึงเด็กทั้งสองต่างร้องไห้โฮและไม่ยอมกินขนมปังหรืออาหารใดๆอยู่นานหลายวัน จนเมื่อนำถั่วที่ฝักยังติดก้านเพราะเพิ่งเก็บเกี่ยวมาให้เด็กน้อยผู้อดโซจึงแสดงท่าทีกระหายอยากกินแต่ไม่ฉีกฝักกลับฉีกตรงก้านและเมื่อไม่พบอะไรก็ร้องไห้อีกหลังจากเริ่มรู้วิธีการแกะถั่วแล้วเด็กทั้งสองก็ประทังชีวิตด้วยอาหารชนิดนี้อยู่นานหลายเดือนก่อนจะยอมลองลิ้มรสขนมปัง
ผ่านไประยะหนึ่งเด็กชายผู้ดูเหมือนอ่อนวัยกว่าก็เริ่มมีอาการซึมเศร้า เขาล้มป่วยและตายในที่สุดส่วนเด็กหญิงสามารถปรับตัวกับชีวิตใหม่ได้ โดยเข้าพิธีศีลจุ่มตามธรรมเนียมของชาวคริสต์ ผิวพรรณของเธอเริ่มกลายจากสีเขียวเป็นสีของคนปกติเธอเติบโตเป็นเด็กสาวสุขภาพแข็งแรง เรียนรู้ภาษาอังกฤษหลังจากนั้นเธอก็ได้แต่งงานกับชายคนหนึ่งที่เมืองคิงสลีนน์ในนอร์โฟล์ค เล่าลือกันว่าเธอกลายเป็นหญิงสาว "ผู้มีพฤติกรรมฉาวคบผู้ชายไม่เลือกหน้า"
บางแหล่งข้อมูลระบุชื่อของเธอคือ แอกเนส แบร์เร (Anes Barre) ส่วนผู้ที่เธอสมรสด้วยเป็นถึงเอกอัครราชทูฒอาวุโสของ เฮนรี่ที่ 2 และยังกล่าวด้วยว่าท่านเอิร์ลเฟอร์เรอร์ส (Earl Ferres เป็นตำแหน่งหนึ่งของขุนนางใน UK คนปัจจุบันคือ Robert Washington Shirley) โดยสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขั้นสูง แต่หลักฐานเรื่องนี้ไม่ชัดเจนเนื่องจากชื่อของขุนนางนามสกุล Barre ที่สามารถสืบเสาะได้ถึงยุคนั้นมีเพียงคนเดียว คือ Richard Barre อัครมหาเสนาบดีของ เฮนรี่ที่2 ริชาร์ดผู้นี้เกษียนราชการไปเป็นพระในคณะนักบวชคณะ Augastin ที่เมืองเลสเตอร์ จึงไม่น่าเป็นไปได้ว่าเขาคือสามีของ เอกเนส
เมื่อถามถึงอดีตของเธอเด็กหญิงเล่าได้เพียงรายละเอียดคลุมเครือเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งพวกเขาจากมาแล้วมาถึงหมู่บ้านวูลพิตได้อย่างไร เด็กหญิงเล่าว่าเธอกับเด็กชายเป็นพี่น้องกัน โดยมาจาก "ดินแดนแห่งเซนต์มาร์ติน" ที่ตกอยู่ในแดนสนธยาตลอดกาลผู้อาศัยอยู่ในดินแดนนี้ล้วนมีผิวสีเขียวเช่นเดียวกับสีผิวของเธอเธอไม่อาจระบุที่ตั้งชัดเจนของบ้านเกิดเธอได้รู้แต่ว่ามีดินแดนอีกแห่งที่"สว่างโรจน์" มองเห็นอีกฟากของ "แม่น้ำสายใหญ่" ที่กั้นแยกดินแดนแห่งนั้นจากพวกเขา เธอจำได้ว่าวันหนึ่งขณะเธอกับน้องชายกำลังดูแลฝูงสัตว์ของพ่อแม่อยู่ในไร่ เมื่อตามพวกมันเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่ง พลันพวกเขาก็ได้ยินเสียงระฆังดังกังวานทั้งสองเดินฝ่าความมืดอยู่เป็นเวลานานจนกระทั่งมาถึงปากถ้ำ (กับดักหมาป่า) นัยน์ตาก็พร่ามัวเนื่องจากปะทะกับแสงจ้าอย่างฉับพลันทั้งสองทิ้งตัวลงนอนด้วยความมึนงงอยู่นานก่อนจะตกใจตื่นเพราะเสียงเซ็งแซ่ของชาวไร่พวกเขาพยายามหนีแต่หาทางออกไม่เจอ จนกระทั่งชาวบ้านพาพวกเขาไป
เบื้องหลังเรื่องเล่าพิสดารนี้มีความจริงอยู่บ้างไหม ?? หรือมันควรจะถูกจดลงในบัญชีเรื่องเล่าประหลาดมากมายของ ผู้บันทึกจดหมายเหตุสมัยกลาง ของอังกฤษ มีแหล่งข้อมูลดั้งเดินอยู่สองแห่งจาก คริสต์วรรษที่ 12 แห่งแรกคือวิลเลียมแห่งนิวเบร์ก (William of Newburgh) มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1136-1198 พระสงฆ์และนักประวัติศาสตร์แห่งเมือง ยอร์ดเชียร์ ในผลงานสำคัญของเขา Historia rerum Anglicanum ซึ่งกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของอังกฤษตั้งแต่ปี 1066-1198 และได้เล่าเรื่องของเด็กผิวเขียวไว้ด้วย อีกแหล่งข้อมูลคือราล์ฟแห่งคอกกีแชล (Ralph of Coggeshall) ผู้เป็นเจ้าอาวาสในอารามคอกกีแชลเมือง เอสเซ็กซ์ ...เรื่องเล่าเกี่ยวกับเด็กผิวเขียวของเขาปรากฏอยู่ในบันทึกเหตุการณ์ของอังกฤษ Chronicon Anglicanum ซึ่งเขียนไว้เมื่อปี 1187-1224
จากแหล่งข้อมูลทั้งสองข้างต้นราล์ฟแห่งคอกกีแชลผู้อาศัยอยู่ในเมืองเอสเซ็กซ์ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับซัฟโฟลค์ (หมู่บ้านวูลพิต) น่าจะเป็นผู้มีโอกาสได้พบปะกับผู้อยู่ในเหตุการณ์โดยตรงเพราะเขาได้กล่าวในบันทึกว่าได้ยินเรื่องเล่านี้อยู่บ่อยครั้งจากเซอร์ริชาร์ดเอง (เจ้าของที่ดินที่รับเด็กเขียวมาเลี้ยง) ซึ่งแอกเนสทำงานเป็นคนรับใช้ของเขา ต่างกับของวิลเลียมแห่งนิวเบิร์กผู้อาศัยอยู่ในโบสถ์แห่งยอร์คเชียร์ซึ่งอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุมากดังนั้นจึงไม่น่าใช่ข้อมูลปฐมภูมิ แต่เป็นการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลร่วมสมัยเห็นได้จากคำกล่าวว่า "ข้าพเจ้าชั่งใจไม่ถูกกับพยานมากมายที่น่ารับฟังด้วยกันทุกฝ่าย"
เรื่องราวของเด็กผิวเขียวยังคงประทับอยู่ในใจของผู้คนมาตลอดจนถึงประวัติศาสตร์ในชั้นหลัง ดังปรากฏมีการบันทึกอยู่ใน กายวิภาคแห่งความขื่นขม (The Anatomy of Melancholy) ของ Robert Burton ซึ่งเขียนเมื่อปี 1621 และอยู่ในคำบรรยายตอนหนึ่งที่อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลศตวรรษที่ 12 ในหนังสือ The Fairy Mythology ของ Thomas Keightley
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่กล่าวกันว่าเป็นการพบเห็นเด็กผิวเขียวครั้งที่สองในสถานที่ที่เรียกว่า บันโฆส (Banjos) ในประเทศสเปนเมื่อเดิอนสิงหาคม ปี 1887 อย่างไรก็ดีรายละเอียดของเหตุการณ์นี้แทบจะเหมือนที่วูลพิททุกประการ โดยเรื่องเล่านี้ก็ดูเหมือนจะมาจากหนังสือ ลิขิตประหลาดจากสวรรค์ (Strange Destinies) ของ จอห์น แม็คลิน (Jhon Macklin) ตีพิมพ์เมื่อปี 1965 แล้วเอามาแต่งเรื่องใหม่ให้เกิดในปี 1887 ความจริงก็คือไม่มีสถานที่ที่ชื่อบันโฆสในสเปน ส่วนเนื้อหาก็เป็นการนำเอาเรืองเก่าในศตวรรษที่12 ของอังกฤษมาเล่าใหม่เท่านั้น
ในบรรดาคำอธิบายอันหลากหลายต่อปริศนาเด็กผิวเขียวนี้ ข้อเสนอแบบสุดกู่สุดโต่งคือ เด็กทั้งสองคนมาจากโลกใต้พิภพหากด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ อาจจะก้าวทะลุช่องทางสักแห่งจากมิติคู่ขนานหรือเด็กคู่นี้เป็นมนุษย์ต่างดาวซึ่งบังเอิญพลัดมาบนโลก ทฤษฎีหลังนี้มีผู้สนับสนุนคือนักดาราศาสตร์ชาวสก็อต ดันแคน ลูนัน (Ducan Lunan) เขาเสนอว่าเด็กสองคนนี้คือมนุษย์ต่างดาวผู้ถูกส่งมายังโลกจากดาวเคาระห์ดวงหนึ่งเนื่องจากความผิดพลาดของเครื่องส่งสสารทำงานขัดข้อง
เรื่องเด็กผิวเขียวยังถูกนำมาผูกโยงกับนิทานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษานอร์วิชปี 1595 เป็นไปได้ว่าฉากเหตุการณ์ในนิทานเรื่องนี้อยู่ในป่าแวย์แลนด์วูดซึ่งอยู่ใกล้กับป่าเธ็ตฟอร์ดอันเป็นพรมแดนระหว่าง นอร์โฟล์คกับซัฟโฟล์ค นิทานมีอยู่ว่า ท่านเอิร์ลชาวนอร์โฟล์ค ในวัยกลางคน มีหลานสองคนเป็นเด็กชายวัยสามขวบกับน้องสาวท่านเอิร์ลผู้เป็นลุงและผู้จัดการมรดกของเด็กทั้งสองหวังฮุบสมบัติด้วยการกำจัดเด็กทั้งสองนี้ จึงจ้างวานชายสองคนให้พาหลานของตนเข้าป่าและฆ่าทิ้งเสียทว่ามือสังหารทำงานไม่ลุล่วง จึงทิ้งหลานของเอิร์ลไว้ในป่าเวย์แลนด์วูด จนในที่สุดเด็กน้อยทั้งสองก็สิ้นใจตายเนื่องจากขาดอาหารและปอดบวมเพราะความหนาว ต่อมามีผู้ดัดแปลงนิทานเรื่องนี้โดยเปลี่ยนสถานที่เป็นป่าวูลพิทซึ่งอยู่รอบนอกหมู่บ้านวูลพิท (อันเป็นสถานที่เกิดเหตุดั้งเดิม) เนื้อเรื่องเปลี่ยนเป็น ให้เด็กทั้งสองรอดชีวิตจากการวางยาพิษจากสารหนูก่อนมาโผล่ในป่าละเมาะวูลพิตจนกระทั่งชาวไร่มาพบเจอ จากเรื่องเล่าฉบับนี้ทำให้มีผู้เสนอว่าเป็นเพราะสารหนู จึงทำให้เด็กมีผิวสีเขียวแต่ความเป็นไปได้ว่าทั้งสองอาจเป็นเด็กในป่าที่มีตัวตนจริงในศตวรรษที่ 12 จนกลายมาเป็นต้นเค้าของนิทานพื้นบ้านนี้ยังไม่ควรถูกมองข้ามไปเสียทั้งหมด
เรื่องเล่าของหมู่บ้านวูลพิตยังมีอีกหลายมิติที่พบได้ในความเชื่อท้องถิ่นของอังกฤษ บางคนมองว่าเด็กผิวเขียวคือบุคลาธอษฐานแทนธรรมชาติในลักษณะคล้ายคลึงกับผีป่ากรีนแมน (Jack in the Green) ตามคติพื้นบ้านของอังกฤษหรือกระทั่งอัศวินเขียวในตำนานกษัตริย์อาร์เธอร์ เด็กสองคนนี้อาจเป็นพวกเอลฟ์ หรือพวกรุขเทวดา (หรือเอเลี่ยนที่อยู่บนโลกมาก่อนมนุษย์เป็นผู้ทรงภูมิ) ซึ่งคนพื้นบ้านในหลายประเทศเชื่อว่ามีจริงจนเมื่อหนึ่งหรือสองศตวรรษมานี้เองความเชื่อดังกล่าวเกี่ยวกับพกวเอล์ฟจึงเริ่มรางเลืองไป แต่หากเรื่องเล่าเด็กผิวเขียวเป็นเพียงนิทานภูตไพรกับนับเป็นการหักมุมแบบไม่คาดคิดอย่างเหลือเชื่อที่ให้เด็กหญิงอยู่กินแต่งงานกับมนุษย์คนหนึ่งโดยไม่ย้อนคืนสู่ภพเดิมของเธอ
ส่วนคำวิจารณ์เจือปริศนาของราล์ฟแห่งคอกกีแชลที่ว่า เด็กหญิงเมื่อเติบโตรุ่นสาวเป็นผู้มี "พฤติกรรมฉาว คบผู้ชายไม่เลือก"มีนัยยะถึงสัญชาติญานดิบเถื่อนบางอย่างแบบภูตไพร? นอกจากนี้ในคติพื้นบ้านอังกฤษสีเขียวยังมักเกี่ยวโยงกับปรโลกและอำนาจลี้ลับความชอบถั่วสีเขียวของเด็กจึงเป็นอีกข้อสังเกตที่ถูกนำมาผูกกับความเชื่อดังกล่าวเพราะเชื่อกันว่า ถั่วคืออาหารของคนตาย ในบางลัทธิของชาวโรมันจะมีเทศกาลประจำปีเรียกว่า เลอมูเรีย (Lemuria) ซึ่งใช้ถั่วเป็นเครื่องเซ่นเพื่อขับไล่ผีร้ายของคนตายออกจากบ้าน ในสมัยกรีกโรมัน และอียิปต์โบราณรวมทั้งอังกฤษสมัยกลางมีความเชื่อคล้ายกันว่าในถั่วมีวิญญานผู้ตายสิงอยู่
แม้เรื่องเล่าแห่งหมู่บ้านวูลพิตจะปรากฏอยู่ในแหล่งข้อมูลเมื่อศตวรรศที่ 12 แต่ก็ควรพึงระลึกว่าจดหมายเหตุในเวลานั้นนอกจากจะบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองและศาสนาแล้วยังมีอีกมากมายหลายกรณีที่ได้จดจำถึงเรื่องประหลาด ปาฏิหาริย์และโชคชะตาราศี อันเป็นสิ่งที่คนสมัยนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยยอมรับแต่เป็นความเชื่อกันอย่างกว้างขวางในสมัยนั้นแม้แต่ผู้มีการศึกษาทั้งชายและหญิง ถ้าเช่นนั้นวิญานประหลาดของเด็กผิวเขียวก็อาจเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงและขมขื่นผสมผสานเข้ากับนิทานปรัมปราและคติความเชื่อท้องถิ่นเรื่องผีสาวนางไม้ไปจนถึงชีวิตหลังความตาย
ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไรเรื่องเล่าเด็กผิวเขียวยังคงเป็นหนึ่งในปริศนาลี้ลับที่สุดของอังกฤษตลอดไปเว้นเสียแต่ว่าเชื้อสายของแอกเนส แบร์เรจะถูกสืบเสาะได้หรือค้นพบเอกสารหลักฐานอื่นๆเพิ่มเติมอีก แต่ยังไงซะเรื่องไหนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องลี้ลับติดอันดับ Top ten แล้วนั้นต่อให้หาคำตอบได้ ยังไงเราก็ต้องสงสัยในคำตอนนั้นอยู่ดี
เครดิต
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น